แก้มห้อยหลังยุบโหนก แก้ไขอย่างไร?

แก้มห้อยหลังผ่าตัดยุบโหนกแก้มเกิดจากอะไร

การผ่าตัดยุบโหนกแก้ม เป็นการผ่าตัดที่ทำกันบ่อยขึ้นมากในเมืองไทย เพราะมีศัลยแพทย์ที่จบเฉพาะทางด้านนี้มากขึ้น หรือมีการฝึกฝนทำกันได้มากขึ้น แต่เทคนิกที่ต่างกัน จากหลายสถาบัน หลายแหล่งความรู้ ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกันได้

สิ่งหนึ่งที่คนไข้มักจะกังวลกันมากเวลามาปรึกษาเรื่องยุบโหนกแก้มคือ การเกิดแก้มห้อย ต้องบอกว่าสาเหตุการเกิดแก้มห้อยนั้น ขึ้นกับเทคนิคและการออกแบบโครงหน้าเป็นส่วนใหญ่เลยครับ เพราะการยุบโหนกแก้ม ไม่ใช่เพียงการตัดและหักกระดูกโหนกแก้มให้จมเข้าไป เพื่อให้ใบหน้าดูแคบลงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงใบหน้าในหลาย ๆ มิติ ในมุมมองต่าง ๆ และการเคลื่อนที่ของเนื้อเยื่ออ่อนด้วย

ในเทคนิคที่ตัดแบบตัว I หรือเรียกว่าแบบ In-fracture ซึ่งแปลว่า หักเข้าใน เป็นการตัดกระดูกที่บริเวณด้านข้าง ยุบกระดูกส่วนขาของโหนกแก้ม (zygomatic arch) แล้วหักให้จมเข้าข้างใน โดยไม่ทำการยึดตรึงกระดูก จริงอยู่ที่วิธีนี้ สามารถลดความกว้างของใบหน้าได้ดี ซึ่งจะได้ผลดีกับเคสที่มีขาของโหนกแก้มกว้าง ๆ เท่านั้น ส่วนในรายที่กระดูกส่วนหน้า (body) ของโหนกแก้มใหญ่ จะไม่สามารถลดได้ ทำให้ยังดูนูน สูงและกรอบใบหน้าอาจดูคมขึ้นได้ เพราะมีการหักจมกระดูกด้านข้างเข้าไป

ที่สำคัญ กระดูกที่หักเข้าไปนี้ มีกล้ามเนื้อมายึดเกาะอยู่หลัก ๆ สองมัด คือ

  1. กลัามเนื้อที่ใช้เคี้ยวข้าวหรือกัดฟัน (Masseter muscle) มัดที่เราชอบฉีดโบท๊อกซ์เพื่อลดกรามกันนั่นเอง
  2. กล้ามเนื้อมัดที่เกาะไปที่มุมปาก เพื่อใช้ทำการยกมุมปากเวลายิ้ม (Zygomaticus major)

เมื่อทำการตัดกระดูกส่วนด้านข้างนี้ให้แตกแล้ว กล้ามเนื้อเหล่านี้จะยังทำงานได้ดี ซึ่งจะคอยดึงให้กระดูกส่วนนี้เคลื่อนตัวตกลงมาด้านล่าง ทำให้เกิดการห้อยย้อยของเนื้อแก้มนั่นเอง มุมปากก็จะตกลง ร่องแก้มข้างปากลึกขึ้น หากอาการเป็นมาก อาจเกิดอาการเคี้ยวอาหารได้ไม่แรงเท่าเดิม และยิ่งหากเป็นรุนแรงมาก เกิดภาวะกระดูกไม่เชื่อมกัน อาจเห็นเป็นร่องลึกบริเวณข้างโหนกแก้ม และจากการที่มีการขยับของชิ้นกระดูกนี้ตลอดเวลา ทำให้เกิดการเจ็บ ก่อให้เกิดผลเสียรุนแรงทั้งรูปหน้าดูผิดปรกติและการใช้ชิวิตลำบากขึ้นด้วย

แนวทางการแก้ไขแก้มห้อยหลังผ่าตัดยุบโหนกแก้ม

ในการแก้ไข หากป้องกันได้จะดีที่สุด โดยการใช้เทคนิคที่ให้ความสำคัญกับเนื้อเยื่อแก้มด้วย ทิศทางในการเคลื่อนที่ของชิ้นกระดูกนอกจากจะแค่หักเข้าในแล้ว ควรมีการยกกระดูกขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับการจัดการกระดูกโหนกแก้มส่วนที่นูนเด่นที่สุดไปด้วยพร้อมกัน ดังเทคนิคตัดกระดูกแบบตัว L แล้วทำการยึดกระดูกให้ติดและแข็งแรงด้วยวัสดุยึดกระดูกเพลทสกรู ซึ่งเป็นวัสดุมาตรฐานทางการแพทย์ในการยึดกระดูกใบหน้า หากไม่มีปัญหาอะไร สามารถฝังทิ้งไว้กับร่างกายเราได้ตลอดชีวิต เพราะเข้ากันกับเนื้อเยื่อของร่างกายเราได้และไม่เกิดสนิม ไม่ต้องกังวลเมื่อต้องเข้าเครื่อง MRI หากใช้วัสดุที่มีคุณภาพเช่น ไทเทเนียมอัลลอยด์ เพราะเป็นวัสดุที่เป็น MRI compatible สามารถทำ MRI ได้โดยไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ต้องแจ้งแพทย์ที่ดูแลไว้ก่อนทำเสมอ

เคสแก้ไขโหนกแก้มห้อย

แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว อย่างในคนไข้รายนี้ ได้รับการผ่าตัดยุบโหนกแก้มแบบตัว I มาจากสถานที่อื่น มีปัญหาหลังผ่าตัดแบบรุนแรงคือ ร่องข้างโหนกแก้มเห็นร่องชัด กระดูกขยับเวลาเคี้ยวอาหาร แก้มห้อยย้อย มีอาการตึงแก้มอย่างมาก ไม่สามารถอ้าปากได้สุด จากการที่มีกระดูกโหนกแก้มจมเข้าไปขัดกับกระดูกขากรรไกรล่าง จึงเข้ามาปรึกษาเพื่อรับการผ่าตัดแก้ไข

และในรายนี้ยังได้มีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ สร้างภาพจำลองกระโหลกศีรษะของคนไข้ออกมา เพื่อให้เห็นตำแหน่งของกระดูกแต่ละชิ้น จะได้ทำการวางแผนและกำหนดจุดที่จะแก้ไขได้ดีขึ้น เป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้เลยครับ

ส่วนการผ่าตัดแก้ไขในลักษณะนี้ คงต้องเน้นไปที่การเคลื่อนชิ้นกระดูกที่ตกและจมเข้าไปขัดกับกระดูกขากรรไกรล่าง โดยยกและงัดออกมาให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยไม่ใช่ตำแหน่งเดิมก่อนผ่าตัด เพราะจะทำให้โหนกแก้มกลับมากว้างเหมือนก่อนผ่าตัดครั้งแรก แต่ควรวางตำแหน่งให้กระดูกแนบชิดกันมากที่สุดเพื่อให้มีแนวกระดูกเชื่อมต่อกันได้อย่างแข็งแรง แล้วทำการยึดตรึงกระดูกด้วยวัสดุเพลทสกรูให้แข็งแรง และในรายนี้มีการกรอโหนกแก้มเพื่มเติมในส่วนที่เป็นจุดหนาหรือมุมแหลมของโหนกแก้มด้วย เพื่อให้หายคมและดูละมุนขึ้น

หลังผ่าตัดแนะนำให้งดเคี้ยวอาหารแข็งๆประมาณหนึ่งเดือน แล้วทำการตรวจซ้ำด้วยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ เพื่อตรวจดูว่ามีการติดกันของกระดูกหรือไม่ ในรายนี้ยังอยู่ระหว่างรอฟื้นตัวหลังผ่าตัด หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะนำมาเสนอต่อไปนะครับ หากใครสนใจ กรุณาติดตามกันไว้นะครับ และสามารถเผยแพร่ได้เพราะคนไข้ได้อนุญาตและเพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้หรือกำลังคิดจะตัดสินใจรับการผ่าตัดโหนกแก้ม ให้ศึกษาหาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน รวมถึงการสอบถามรายละเอียดเทคนิกการผ่าตัดที่จะทำกับทางศัลยแพทย์ของท่านให้ดีก่อนผ่าตัดด้วยครับ

 

พร้อมเพิ่มความมั่นใจหรือยัง ?