ลดกราม แค่ตัดกระดูกบางครั้งอาจไม่พอ

Share Now —

“ลดกราม แค่ตัดกระดูกบางครั้งอาจไม่พอ”

ปัญหารูปหน้าที่ใหญ่ ไม่เรียว ทำให้ดูแข็ง ไม่น่ารัก คือปัญหาที่ค้างคาใจคุณผู้หญิงหลายๆ ท่าน บางท่านอาจจะเคยได้ลองปรึกษาหมอหรือรักษากันมาบ้างแล้วด้วยวิธีการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำโบทอกซ์ลดขนาดกล้ามเนื้อกราม หรือการทำศัลยกรรมตัดกระดูกกราม ที่เรียกว่า การตัดกราม เหลาหน้า  ซึ่งในบางคน การฉีดโบทอกซ์อาจเป็นที่ถูกใจ เพราะได้ผลดี หน้าเล็กลงได้ดี แต่มีปัญหาตรงที่ว่า อยู่ได้ไม่นานนัก ต้องฉีดซ้ำเรื่อยๆ นานๆเข้าอาจเริ่มไม่เห็นผลส่วนในบางคน มีกระดูกกรามที่ใหญ่ หากต้องการได้รับผลที่ชัดเจน จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดกระดูกกราม ถึงจะได้ผลดี

โดยกล้ามเนื้อกรามที่ว่านี้ อยู่ตรงไหน มีวิธีการจัดการกับมันได้อย่างไรบ้าง สามารถอ่านได้จากบทความด้านล่างครับ

 

กล้ามเนื้อกราม หรือกล้ามเนื้อกัดฟัน (Masseter muscle) เป็นกล้ามเนื้อคู่ อยู่บริเวณกระดูกกรามด้านหลัง คลุมบริเวณมุมกราม ขึ้นไปเกาะกับกระดูกโหนกแก้ม ใช้สำหรับการกัดฟันเพื่อบดเคี้ยว ในบางคนที่ชอบทานอาหารเหนียวๆ หรือพฤติกรรมบางอย่างเช่นนอนกัดฟัน อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดนี้ใหญ่ขึ้นได้ ทำให้บริเวณมุมกรามมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากตำแหน่งมันอยู่ตรงขอบมุมของหน้าพอดี เลยทำให้หน้าดูใหญ่ และดูเหลี่ยมตามไปด้วย บ่อยครั้งก็อาจพบว่า กล้ามเนื้อมัดนี้มีขนาดไม่เท่ากัน อาจเกิดจากความผิดปรกติของใบหน้า หรือเกิดจากพฤติกรรมการเคี้ยวอาหารข้างเดียวก็ได้

 

ในการจัดการกล้ามเนื้อกรามนี้ สามารถทำได้หลักๆ 3 วิธีด้วยกัน คือ


1. การฉีดโบทูลินัมทอกซิน หรือโบทอกซ์ที่เราเรียกกันเป็นสารพิษที่มีการยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อนั้นฝ่อลงมีขนาดเล็กลงได้
ข้อดีของวิธีนี้ คือ ง่าย ไม่เจ็บตัว(มากนัก) แทบไม่ต้องพักฟื้น ได้ผลในการลดขนาดกล้ามเนื้อได้ดี
ข้อเสียล่ะ คือ ต้องทำบ่อย เพราะการฉีดโบท๊อกซ์แต่ละครั้ง อยู่ได้ราว 4-6 เดือน และในบางราย อาจมีการดื้อยา ทำให้ฉีดยาเท่าเดิม แต่ได้ผลน้อยลงเรื่อยๆได้

2. การจี้กล้ามเนื้อด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency ablation) เป็นการใช้คลื่นวิทยุ ผ่านเข็มเล็กๆ จี้ผ่านบริเวณเยื่อบุในช่องปาก เข้าไปทำให้เกิดความร้อนและเกิดการสลายตัวของกล้ามเนื้อตามมา ทำให้กล้ามเนื้อเล็กลง
ข้อดีคือ ได้ผลดีในการลดขนาดกล้ามเนื้อ เจ็บตัวไม่มากนัก (ถ้าเทียบกับการผ่าตัด) และสามารถทำซ้ำได้
ข้อเสีย คืออาจมีการบวมช้ำได้มากกว่าการฉีดโบท๊อกซ์ และที่สำคัญคือ การโตกลับคืนของกล้ามเนื้อ โดยพบว่าส่วนมากจะอยู่ได้ราว 1-2 ปี

3. การผ่าตัด ตัดกล้ามเนื้อ โดยการเอากล้ามเนื้อออกไปประมาณ 1/3 - 1/2 ของความหนากล้ามเนื้อ สามารถทำเดี่ยวๆก็ได้ แต่ส่วนมากจะทำพร้อมกันกับการผ่าตัดลดกระดูกกราม เพื่อหวังผลการรักษาที่ดีขึ้น โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงมากนัก
ข้อดี คือได้ผลแน่นอน ชัดเจน และได้ผลในระยะยาว สามารถทำร่วมกับการผ่าตัดกระดูกกรามได้ โดยไม่ต้องมีแผลเพิ่มเติม
ข้อเสีย คืออาจมีการบวมช้ำได้มากกว่าและนานกว่าวิธีอื่น หากตัดกล้ามเนื้อออกมากเกินไป อาจเกิดรอยบุ๋มที่บริเวณแก้มได้ และหากตัดน้อยเกินไปก็ไม่เห็นผล กล้ามเนื้อที่เหลือสามารถโตกลับมาได้อีก และความเสี่ยงสำคัญคือ การบาดเจ็บเส้นเลือดและเส้นประสาทใบหน้า ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดมาก ใบหน้าเบี้ยวหรืออัมพาตบางจุดได้

การผ่าตัดกล้ามเนื้อกราม เป็นการผ่าตัดที่ไม่ยากหากทำด้วยความระมัดระวังและทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับการผ่าตัดลักษณะนี้ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น อาจมีปัญหาร้ายแรงได้

ดังนั้นหากใครที่มีปัญหา กรามใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจากขนาดของกล้ามเนื้อกรามแล้วละก็ หากต้องการลดขนาดกล้ามเนื้อกราม ก็จะพอมีความเข้าใจและแนวทางในการเลือกและตัดสินใจกันบ้างแล้วนะครับ

 

พร้อมเพิ่มความมั่นใจหรือยัง ?